obj
obj

คอลัมน์บอล

TOP 50 นักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก (อันดับที่ 21-30)

TOP 50 นักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก (อันดับที่ 21-30)


อันดับที่ 30: โลธาร์ มัทเธอุส ( Lothar Matthäus )




จุดพีค: 1988-1992

ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1990), แชมป์โลก (1990), แชมป์ยูโร (1980), แชมป์บุนเดสลีกา 7 สมัย, แชมป์สคูเดตโต้ 1 สมัย, บัลลงดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล


อดีตกัปตันทีมชาติเยอรมนีตะวันตก ผู้พาทีมเถลิงบัลลังก์แชมป์โลกอย่างยิ่งใหญ่ เจ้าของสถิตินักเตะที่ลงรับใช้ชาติมากที่สุด 150 นัด ให้กับ ‘อินทรีเหล็ก’ โทษฐานที่สวมใส่เครื่องแบบมายาวนานกว่า 20 ปี จนได้รับฉายาว่า ‘Der Terminator’ หรือ ‘ซูเปอร์แมน’ ในบ้านเรา


มัทเธุส ถือเป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของเมืองมนุษย์ เขาเป็นที่ยกย่องในเรื่องการผ่านบอลที่แม่นยำ, ยิงไกลมีประสิทธิภาพและหนักหน่วง, การเข้าปะทะเฉียบขาด และยังประกบคู่แข่งจนดิ้นไม่หลุด ซึ่งแม้แต่ตำนานอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า ยังยอมรับว่า นี่คือคู่แข่งที่จัดการยากที่สุดในอาชีพค้าแข้งของเขาเลยทีเดียว 


อันดับที่ 29: คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ (Karl-Heinz Rummenigge)



จุดพีค: 1979-1984

ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1980, 1981), แชมป์ยูโร (1980), แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัย, แชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย, ทีมยอดเยี่ยมบุนเดสลีกา 8 ซีซั่น


ในยุคโอนถ่ายสายเลือดของ บาเยิร์น มิวนิค ที่กำลังจะโบกมือลา แกร์ด มุลเลอร์ ในวัย 34 ปี ผู้ตั้งมั่นจะย้ายบั้นเด้าไปค้าแข้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามรอยของ ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์ ที่นั่งแท็กซี่ไปรอก่อนตั้งแต่ปี 1977 ก็ได้ ‘เจ้าหนูแก้มแดง’ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ นี่แหละขึ้นมาเป็น ‘อนาคตใหม่’ เอ้ย! ความหวังใหม่ให้กับทีม


ด้วยสไตล์การเล่นที่เดาทางได้ยาก เพราะนอกจากจะเล่นบอลทั้ง 2 เท้าได้ดีแล้ว เขายังสามารถถ่างตัวเองออกไปเล่นตรงเกมริมเส้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายในมิติเกมรุก ความรวดเร็วและการเลี้ยงบอลฝ่าดงนันยาง กลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้แนวรับหลายคนในยุคนั้นต้องหวั่นเกรง ก่อนถูกเสนอชื่อเข้าชิงบัลลงดอร์ 3 ปีติดต่อกัน และสามารถนำกลับมาตั้งโชว์ที่บ้านได้ถึง 2 ครั้ง


ณ ช่วงโมเมนต์นั้น เด็กหนุ่มคนนี้ก็กลายเป็น กัปตันทีมชาติเยอรมนี, นักเตะยอดเยี่ยมของทวีปยุโรป และดาวยิงสูงสุดของบุนเดสลีกา ในเวลาเดียวกัน


อันดับที่ 28: เรย์มงด์ โคปา (Raymond Kopa)



จุดพีค: 1956-1959

ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1958), แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 3 สมัย, แชมป์ลาลีกา 2 สมัย, แชมป์ฝรั่งเศส ดิวิชั่นหนึ่ง 4 สมัย, นักเตะฝรั่งเศสที่ดีที่สุดตลอดกาลอันดับที่ 3


สมาคมฟุตบอลฝรั่งเศส ได้มอบตำแหน่งนักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาลของประเทศตนเองให้กับ มิเชล พลาตินี่ และตามติดมาด้วย ซีเนอดีน ซีดาน กับ เรย์มงด์ โกปา ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขาคือส่วนสำคัญของ เรอัล มาดริด ในยุคตั้งไข่ของการเป็นจักรพรรดิแห่งทวีปยุโรป


จะมีนักเตะสักกี่คนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงบัลลงดอร์ถึง 4 ปีติดต่อกัน แม้ว่าจะได้รางวัลที่มาครองแค่ครั้งเดียว แต่ความเก่งกาจของเขา ทำให้ มาร์ก้า หนังสือพิมพ์ชื่อดังของ ‘กระทิงดุ’ ตั้งฉายาให้เขาว่า ‘นโปเลียนน้อย’ และกลายเป็นนักเตะสัญชาติฝรั่งเศสคนแรกที่คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ก่อนพาทีมชาติตนเองทะลุถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลก ปี 1958 ทัวร์นาเมนต์ที่เขาพลาดท่าให้กับ ทีมชาติบราซิล ของ ‘ไข่มุกดำ’ เปเล่


อันดับที่ 27: ชาบี เอร์นาเนเดซ (Xavi Hernández)



จุดพีค: 2008-2012

ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (2010), แชมป์ยูโร (2008, 2012), แชมป์สโมสรโลก 2 สมัย, แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 4 สมัย, แชมป์ลาลีกา 8 สมัย, ทีมยอดเยี่ยมบุนเดสลีกา 8 ซีซั่น, เพลย์เมเกอร์ที่ดีที่สุด 4 ปีซ้อนของ สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ (IFFHS), ติดทีม FIFPRO 6 ครั้ง, บัลลงดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล


หากไม่นับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ ลีโอเนล เมสซี่ จะมีนักเตะสักกี่คนที่เพิ่งแขวนสตั๊ดไปในปี 2019 แต่ยอดเยี่ยมถึงขั้นที่ถูกเสนอชื่อติดทีม Ballon D’or Dream Team และชุดที่เขาติดคือ ทีมตลอดกาลของโลก ไม่ใช่ชุด Silver หรือ Bronze ด้วย!


ชาบี เอร์นาเดซ สถาปนาตนเองเป็น เพลย์เมกเกอร์ หมายเลข 8 ที่ดีที่สุดตลอดกาล ด้วยลูกจ่ายบอลเรียดพื้นตามแบบฉบับของ โททัล ฟุตบอล พาทีมชาติของตนครองความยิ่งใหญ่ กวาดแชมป์โลกและแชมป์ยูโรไปอย่างเหนือชั้น เช่นเดียวกับ บาร์เซโลน่า ภายใต้การนำทีมของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็ถูกขนานนามเป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลเช่นกัน


นอกจากนี้ เขายังเป็น 1 ใน 47 ผู้เล่นที่ลงสนามเกิน 1,000 แมตช์ ในเกมทางการที่ได้รับการยอมรับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) 


อันดับที่ 26: คาฟู (Cafu)



จุดพีค: 2002-2007

ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1994, 2002), แชมป์โคปา อเมริกา (1997, 1999), แชมป์คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ (1997), แชมป์สโมสรโลก 1 สมัย, แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 1 สมัย, แชมป์เซเรียอา 2 สมัย, บัลลงดอร์ ดรีมทีม ตลอดกาล


กัปตันแซมบ้าผู้ยิ่งใหญ่ เขาถูกขนานนามให้เป็นแบ็คขวาที่ดีที่สุดตลอดกาล ทั้งจาก France Football นิตยสารฟุตบอลที่มอบรางวัลบัลลงดอร์ และ สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ (IFFHS) แค่นี้ก็บ่งบอกถึงคุณภาพที่ คาฟู มีได้เรียบร้อยแล้ว


ศึกฟุตบอลโลก นัดชิงชนะเลิศ ปี 1994 คาฟู ถูกเปลี่ยนตัวลงสนามตั้งแต่นาทีที่ 21 แทนที่ของ จอร์จินโญ่ ที่ได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่ นัดชิงชนะเลิศ ปี 2002 เขาก็ลงสนามในฐานะวิงแบ็คกราบขวาและผู้สวมปลอกแขนนำทีม แบบนี้จะไม่ให้พูดว่าเป็นคีย์แมนได้อย่างไร? ภาวะความเป็นผู้นำในสนามของเขา ก็ถูกยกขึ้นหิ้งในฐานะกัปตันที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เรียกได้ว่าครบองค์ประกอบความเป็นซูเปอร์สตาร์


คาฟู มีทั้งความเร็ว ความแข็งแกร่ง และพลังงานที่ล้นเหลือ แต่กลับไม่ด้อยกว่าใครในเรื่องของทักษะฟุตบอล จนหลอกล่อคู่แข่งให้หัวคะมำราวกับว่า เขาเล่นในตำแหน่งปีกตัวรุกเสียด้วยซ้ำไป


อันดับที่ 25: ฟรังโก้ บาเรซี่ (Franco Baresi)


จุดพีค: 1988-1994

ความสำเร็จโดดเด่น:  แชมป์โลก (1982), แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 3 สมัย, แชมป์เซเรียอา 6 สมัย, หอเกียรติยศของทีมเอซี มิลาน และสมาคมฟุตบอลอิตาลี, บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Silver)


ครั้งหนึ่ง โชเซ่ มูริญโญ่ เคยบอกให้ จอห์น เทอรี่ กองหลังระดับตำนานของอังกฤษ ดูวีดีโอการเล่นของ ฟรังโก้ บาเรซี่ หรือแม้แต่ ยอดกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ก็บอกให้ เคราร์ด ปิเก้ สมัยที่ยังค้าแข่งกับ แมนเซสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่าให้เอาอย่างตำนานกองหลังของ เอซี มิลาน เช่นกัน แค่นี้ก็คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรกันมากมายแล้ว


บาเรซี่ ได้ลงเล่นให้ เอซี มิลาน ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 18 ปี แม้จะอายุยังน้อย แต่เจ้าตัวก็แสดงฝีเท้าที่แข็งแกร่งออกมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เขาใช้เวลาไม่นานนักในการพาตัวเองให้ก้าวขึ้นมาเป็น สวีปเปอร์ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ หมายเลข 1 ของทีมและของโลกในลำดับต่อมา บาเรซี่ มีการเปิดบอลที่แม่นยำและสามารถเปลี่ยนจังหวะจากเกมรับเป็นเกมรุกได้อย่างยอดเยี่ยม

บาเรซี่ ลงเล่นให้ มิลาน ทุกถ้วยรวมกัน 719 นัด ทำไป 33 ประตู ติดทีมชาติอิตาลีไปอีก 81 นัดทำได้อีก 1 ลูก และเขาก็เป็นตัวหลักในแดนหลังชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1982 และในปี 1991 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กัปตันทีมของอิตาลี โดยลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1994 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บในนัดแรกที่พบกับทีมชาตินอร์เวย์ เขาก็สามารถฟื้นตัวได้ทันเพื่อเล่นนัดชิงชนะเลิศกับ ทีมชาติบราซิล อย่างไรก็ตาม ความทรงจำเลวร้ายสุดของเขาก็คงเป็นการพลาดจุดโทษในวันนั้น


อันดับที่ 24: เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน (Bobby Charlton)

จุดพีค: 1965-1970

ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1966), แชมป์โลก (1966), แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก 1 สมัย, แชมป์อังกฤษ ดิวิชั่นหนึ่ง 3 สมัย, ติดทีมยอดเยี่ยมยุโรป 4 ปีติดต่อกัน, หอเกียรติยศฟุตบอลอังกฤษ


เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เริ่มต้นค้าแข้งกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตั้งแต่อายุ 17 ปี จากนั้นก็ลงเล่นไปทั้งหมด 754 เกม และยิงประตูไปถึง 249 ลูก โดยเกมประเดิมสนามในลีกของเขาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1956 ในเกมที่พบกับ ชาร์ลตัน แอธเลติก ที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด และเขาก็สร้างผลงานประทับใจได้ในทันที ด้วยการยิง 2 ประตู แม้ว่าจะมีอาการบาดเจ็บรบกวนเขาตลอดเกมก็ตาม


ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1968 เมื่อ ‘ปีศาจแดง’ ได้เข้าชิงฟุตบอลยุโรปกับ เบนฟิก้า โดยเขาได้ทำ 2 ประตู และเป็นกัปตันทีมคนแรกของสโมสรที่ได้ชูถ้วยแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ


ในระดับทีมชาติ เขาโชว์ฟอร์มได้อย่างโดดเด่นในศึกฟุตบอลโลก 1966  โดยการซัดไป 2 ประตู ในรอบรองชนะเลิศที่พบกับทีมชาติโปรตุเกส ซึ่งเป็นนักเตะอังกฤษเพียงคนเดียวที่ โยฮัน ครัฟฟ์ นักฟุตบอลระดับตำนานของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เลือกให้เป็น 1 ใน 11 ผู้เล่นทีมในฝันของตน 


ขณะที่สถิติของ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน กับทีมชาติอังกฤษคือ ติดทีมชาติไป 106 นัด ยิงได้ 49 ประตู ครองสถิติสูงสุดยาวนานหลายสิบปี ก่อนที่ เวย์น รูนีย์ จะทำลายสถิตินี้ได้ในปี 2015


อันดับที่ 23: โรมาริโอ (Romário)



จุดพีค: 1994-1997

ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1994), แชมป์โลก (1994), แชมป์โคปา อเมริกา (1989, 1997), แชมป์คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ (1997), แชมป์เอเรดิวิซี่ 1 สมัย, แชมป์ลาลีกา 1 สมัย, นักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟ่า (1994), รางวัลดาวยิงสูงสุด & รองเท้าทองคำ 22 รายการ


โรมาริโอ ถูกจัดให้เป็นกองหน้าที่ดีที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของทีมชาติบราซิล โดยเขายิงไป 55 ประตู จากการลงเล่นแค่ 70 นัดเท่านั้น และในระดับสโมสร เขายิงได้ 225 ประตู จาก 300 นัด

กองหน้าทีมชาติบราซิล เริ่มต้นอาชีพในยุโรปกับ พีเอสวี ไอน์โฮเฟ่น ก่อนจะย้ายมาร่วมทัพ บาร์เซโลน่า ของ โยฮัน ครัฟฟ์ โดยเขาและ ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ ร่วมกันพาทีมคว้าแชมป์ ลาลีก้า 5 สมัย และ ยูโรเปี้ยน คัพ อีกหนึ่งสมัย จนสื่อและแฟนบอลร่วมตั้งฉายาให้กับ บาร์เซโลน่า ยุคนั้นว่า “ดรีมทีม”


ฟุตบอลโลกที่น่าจดจำที่สุดของ โรมาริโอ คือ ปี 1994 ที่เขาและ เบเบโต้ ร่วมกันสร้างตำนานคู่หัวหอกทองคำ เป็นแกนหลักในการพา ทีมชาติบราซิล คว้าแชมป์ได้สำเร็จ โดยชนะ อิตาลี ด้วยการดวลจุดโทษ โรมาริโอ ยิงไปทั้งสิ้่น 5 ประตู และเขายังได้รับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์ และติดทีมรวมดาวฟุตบอลโลกอีกด้วย

อันดับที่ 22: ดีดี้ (Didi)



จุดพีค: 1958-1962

ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1958, 1962), แชมป์โคปา ออสวัลโด ครูซ (1955, 1958, 1961, 1962), แชมป์โคปา ริโอ (1952), ติดทีมออลสตาร์ฟุตบอลโลก (1958), หอเกียรติยศพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลบราซิล, บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Bronze)


ในระดับสโมสร เขาลงเล่นได้อย่างโดดเด่นให้กับ ฟลูมิเนนเซ โดยลงเล่น 298 นัด และยิงได้ 91 ประตู ในฐานะมิดฟิลด์ และในปี 1959 เขาเซ็นสัญญากับ ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด ลงเล่นร่วมกับผู้เล่นในประวัติศาสตร์หลายคน เช่น เฟเรนซ์ ปุสกาส, อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และ ฟรานซิสโก เกนโต สามเทพเจ้าฟุตบอลแห่งยุค 60 แต่ก็ลงเล่นได้เพียง 19 นัดเท่านั้น เนื่องจากเจ้าตัวมักจะปะทะคารมกับ อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ ทำให้เขาต้องออกจากสโมสร 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขาจะได้เล่นให้ เรอัล มาดริด ช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีส่วนร่วมในชัยชนะของถ้วยยุโรปปี 1959–60 และกลายเป็นผู้เล่นชาวบราซิล คนแรกที่คว้าแชมป์ทั้งฟุตบอลโลกและแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ


ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาเกิดขึ้นในฟุตบอลโลกปี 1958 ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์นี้ จากตำแหน่งกองกลาง เขาเป็นผู้บัญชาการความสำเร็จในฟุตบอลโลกทั้ง 2 ครั้งกับบราซิล แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์มากมายในปี 1962 ว่า “เขาแก่เกินกว่าที่จะลงรับใช้ชาติ” แต่สุดท้าย ดิดี้ ในวัย 33 ปี ก็ใช้ผลงานตอกกลับอย่างหมดจด 


ในการแข่งขันระดับนานาชาติ 68 นัด เขายิงได้ 20 ประตู โดยเป็นลูกฟรีคิกถึง 10 ประตูด้วยกัน จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา


อันดับที่ 21: ซีเนดีน ซีดาน (Zinedine Zidane)



จุดพีค: 1996-2002

ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1998), แชมป์โลก (1998), แชมป์ยูโร (2000), แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก 1 สมัย, แชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ 3 สมัย, แชมป์เซเรียอา 2 สมัย, แชมป์ลาลีกา 1 สมัย, ติดทีมยอดเยี่ยมสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) 4 ครั้ง, รางวัลนักเตะยอดเยี่ยม (UEFA) 12 รายการ, ติดหอเกียรติยศของ เรอัล มาดริด, บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Silver)


ซีเนอดีน ซีดาน หนึ่งในผู้เล่นที่สง่างามและมีพรสวรรค์มากที่สุดตลอดกาล จุดเด่นของเขาที่แฟนบอลทุกคนได้เห็นคือ เทคนิคการเล่นกับลูกบอล การสร้างโอกาสให้กับทีม และการตัดสินใจของเขาก็สมบูรณ์แบบเกือบทุกครั้ง


ในปี 1996  ซีดาน ได้ย้ายไปร่วมทีมยูเวนตุส ภายใต้การคุมทีมของ มาร์เชโล ลิปปี้ และ เขาเองก็เป็นส่วนสำคัญที่พาทีมคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา และ แชมป์อินเตอร์คอนทิเนนทอล คัพ ในปีนั้น รวมถึง มีส่วนสำคัญพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และคว้าแชมป์สคูเต็ตโต้ได้อีกสมัย


ต่อมา เขาได้ย้าย เรอัล มาดริด ในปี 2001 ด้วยค่าตัวสูงเป็นสถิติโลก 76 ล้านยูโร และในฤดูกาลแรก ซีดาน ก็สามารถพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มาครองได้ทันที โดยที่เจ้าตัวสามารถทำประตูสุดคลาสสิค จากการวอลเลย์บอลเข้าไปตุงตาข่ายอย่างสวยงามอีกด้วย เป็นหนึ่งใน Iconic Goal ที่อยู่ในความทรงจำของแฟนบอล


แต่ความพีคของ ซีดาน คงไม่พ้นเกมในระดับทีมชาติกับ ฝรั่งเศส โดยในฟุตบอลโลก 1998 เขาเป็นดั่งหัวใจของทีม และพาทีมเอาเอาชนะ บราซิล ได้แบบขาดลอย 3-0 คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก สมัยแรกมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และนักเตะยอดเยี่ยมของยุโรป มาครองแบบไม่แบ่งใครหน้าไหน


เรียบเรียงโดย The Lite Team

LS Sport ข่าวกีฬาคนรุ่นใหม่ 24 ชั่วโมง



ติดตามข่าวสารฟุตบอลต่างประเทศและคอลัมน์ฟุตบอล ข้อมูลเที่ยงตรง เข้าถึงข้อมูลร้อนเร็วทันเหตุการณ์จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รายละเอียดเกี่ยวกับเกม ผลการแข่งขัน, สถิติของทีม, ข่าวเกี่ยวกับนักเตะและทีมรัก, ทรรศนะ และบทวิเคราะห์, และข้อมูลอื่น ๆ จากทีมชั้นนำจากทั่วโลก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, อาร์เซน่อล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, บาเยิร์น มิวนิค, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน, ยูเวนตุส และอื่นๆ อีกมากมาย ข่าวสารบอล ต้องเว็บไซค์ของคนบ้าบอล ข่าวสดยุคใหม่ 24 ชั่วโมง ต้อง lockscore.com เท่านั่น

icon
icon

0'

Aston Villa

1

icon

Leeds United

2

icon LIVE NOW